คำนิยามศัพท์
สถานศึกษาหมายถึงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย
หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
ความเป็นสากล หมายถึง ทั่วไป, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เป็นที่นิยมทั่วไป,ใช้แทนคํา "ระหว่างประเทศ"
เทคโนโลยี หมายถึงความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ซึ่งมีทั้งในรูปของเครื่องมือเครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ รวมถึงเทคนิควิธีการที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์หรือผลผลิตได้
ดังนั้นการทำให้สถานศึกษามีความเป็นสากลด้วยการใช้เทคโนโลยีหมายความว่า การทำให้หน่วยงานการศึกษาที่มีหน้าที่การจัดการศึกษาให้เป็นที่นิยมทั่วไปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศด้วยการใช้ความรู้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคนิควิธีการต่าง ๆ
Van de Water กล่าวว่าปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้สถานศึกษามีความเป็นสากลควรเน้นที่กระบวนการหลักสามเรื่อง ได้แก่ ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านผู้เรียน ด้านคณาจารย์และบุคลากรด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบัน/หน่วยงานอื่น ๆ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น และคำนึงถึงการให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนและการเน้นการเรียนรู้อย่างแท้จริง
วิธีการทำคือ
ใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างเทคนิคกับการใช้ระบบสื่อสารสารสนเทศ ซึ่งอธิบายด้วย
PSCAN
PSCAN เป็นอักษรย่อที่ได้จากการสังเคราะห์จากการรวบรวมเอกสารแหล่งต่าง ๆ แสดงปัจจัยที่ส่งผลให้สถานศึกษามีความเป็นสากลด้วยการใช้เทคโนโลยีดังนี้
Professor
เป็นตัวแทนบุคลากรที่ทำการสอนในสถานศึกษา ซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการทำให้สถานศึกษามีความเป็นสากล เนื่องจากบุคลากรกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาในระดับสูง ณ ประเทศต่าง ๆ จึงมีศักยภาพที่จะชี้แนะแนวทางในการเข้าสู่เวทีระดับสากลได้อย่างสมภาคภูมิ
Student
นักศึกษาเป็นผลผลิตที่สำคัญของระบบการศึกษาซึ่งได้รับการพัฒนาโดยสถานศึกษาต่าง ๆ การที่จะทำให้สถานศึกษามีความเป็นสากลได้นั้น ศักยภาพของผลผลิตนี้จะเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งซึ่งบ่งบอกว่า สถานศึกษาสามารถเป็นสากลได้เพียงใด การพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพทางด้านวิชาการ ทักษะการปฏิบัตินั้นต้องผ่านกระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาระดับบัณฑิต ต้องได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในระยะเวลาอันใกล้และ พัฒนาต่อเนื่องไปสู่ประชาคมโลกในเวลาต่อไป โดยเฉพาะการฝึกให้นักศึกษามีความสามารถทางภาษาที่เป็นสากล การส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสได้ศึกษาร่วมกับนักศึกษาในต่างประเทศ การจัดหาอุปกรณ์การฝึกที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสถานศึกษาที่ได้รับความนิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
Curriculum
การพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้สถานศึกษามีความเป็นสากลนั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องภายนอกสถานศึกษา เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์มาใช้ในการกำหนดหลักสูตรและพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ต้องเปิดหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ทั้งเรื่องที่เป็นสากล นานาชาติ และของไทย
Activity
การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นวิธีที่สามารถเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถเปิดประตูสู่ความเป็นสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ (Vision) ของผู้บริหารสถานศึกษานั้น เช่นการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัย ณ ต่างประเทศที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการกับสถานศึกษาเพื่อสนับสนุน แลกเปลี่ยนวิทยาการ แลกเปลี่ยนบุคลากร แลกเปลี่ยนนักศึกษาให้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน อาจอยู่ในรูปการเดินทางไปใช้ชีวิต ณ ประเทศที่มีความร่วมมือระยะสั้นหรือยาวตามความเหมาะสม ในโอกาสนี้นอกจากจะได้ร่วมกิจกรรมทางวิชาการแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของแต่ละชาติอีกด้วย
Network
การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสถานศึกษาในลักษณะเดียวกัน เช่นสถานศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นต้น การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดังกล่าวเป็นการนำสถานศึกษาที่มีความเกี่ยวเนื่องกันให้มารวมตัวกัน โดยเน้นการนำระบบสื่อสารสารสนเทศระยะไกลมาใช้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ เช่นการนำระบบประชุมทางไกลระหว่างประเทศมาใช้ดำเนินการสัมมนาทางวิชาการระหว่างคณาจารย์ของสถานศึกษาของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเครือข่าย การประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการบริหาร การเรียนการสอนวิชาที่จัดหลักสูตรเพื่อเรียนร่วมกันของสถานศึกษาในเครือข่าย ด้วยเหตุผลของการเสริมสร้างความมีมาตรฐานทางวิชาการเป็นต้น
ดังนั้นการทำให้สถานศึกษามีความเป็นสากลต้องมีการผสมผสานเทคนิควิธีการต่าง ๆ พร้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีเชิงเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาร่วมกัน การใช้เทคนิควิธีการนั้นเป็นกิจกรรมเชิงนโยบายที่สถานศึกษาพึงมีในการบริหารจัดการ และการใช้เทคโนโลยีเชิงเครื่องมือนั้นเป็นช่องทางในการนำเทคนิควิธีการเชิงนโยบายให้สามารถเดินทางไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ