วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

E-Training นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา


E-Training นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา

เมธี พิกุลทอง สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
http://www.pigul.net
   
    รถยนต์ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยความเร็ว 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันช่างรวดเร็ว รุนแรง และน่าสะพรึงกลัว หากรถยนต์คันนี้ถูกออกแบบด้วยวิธีการคิดที่แยบยล ทุกส่วนของรถได้รับการใส่กลไกที่มีการป้องกันแรงเสียดทาน การสั่นสะเทือน ลู่ลมอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และอีกหลาย ๆ ประการที่จะทำให้รถคันนี้ไม่ฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ บนถนนที่ทอดยาวไกลสุดสายตา ผู้เขียนเชื่อว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรชิ้นนี้ได้อย่างน่าประทับใจ


 

    สุดยอดยนตร์กรรมได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นมารับใช้มนุษย์ชาติ ซึ่งเป็นผู้ขับขี่พาร่างกายให้ย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามแต่ใจจะปรารถนา แต่สิ่งที่ต้องย้อนถามผู้ขับขี่คือ ท่านมีความพร้อมที่จะรับมือกับยนตร์กรรมคันนี้แล้วเพียงใด ท่านรู้หรือไม่ว่าการเดินทางที่ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ท่านจะหายใจอย่างไร ท่านจะวางสรีระอย่างไร ท่านจะบอกคนข้าง ๆ ของท่านอย่างไรถ้าหาก พลาด

 

    ท่านผู้อ่านคงมีคำตอบอยู่ในใจเกี่ยวกับเรื่องที่ปรากฏในย่อหน้าข้างต้น แต่ในชีวิตการทำงานจริงนั้น องค์กรก็เปรียบได้กับรถยนต์คันนั้น มันถูกสร้างขึ้นมาให้ดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยมีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมให้เดินทางไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย อาจมีอุปสรรคบ้าง แต่มิได้หมายความว่ากิจการจะยุติลงอย่างน่าเสียดาย โดยปราศจากการเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหา

 

    บทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้จะพาท่านเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ว่า เรามีวิธีการรับมือกับสภาวะต่าง ๆ ของการดำเนินกิจการขององค์กรโดยมีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมทิศทางอย่างไร อาจกล่าวได้ว่า "ทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจในการเดินทางของอุตสาหกรรม " ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับหัวใจของอุตสาหกรรม ซึ่งฝังตัวอยู่ในส่วนต่าง ๆ แล้วอะไรล่ะเป็นวิธีการที่เหมาะสม คำตอบคือ การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
   
 


 

    การพัฒนาหัวใจในการเดินทางของอุตสาหกรรมนั้นมีหลากหลายวิธีอาทิเช่น การสัมมนา (Seminar) การศึกษาจากกรณีตัวอย่าง (Case Study) การสาธิต (Demonstration) การระดมสมอง (Brain Storming) การประชุมอภิปราย (Conferencing) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) เป็นต้น ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีการใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ระยะเวลา สถานการณ์ที่องค์กรต้องการ กิจกรรมเหล่านี้รวมเรียกว่า การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (เสน่ห์ : 2541)

 

    ในฐานะที่ผู้เขียนทำหน้าที่นักเทคโนโลยีการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการให้เกิดการศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนาหัวใจในการเดินทางของอุตสาหกรรมนั้นก็ถือเป็นภารกิจที่ก่อให้เกิดการศึกษาเช่นเดียวกับการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและตามอัธยาศัย เพียงแต่จัดให้เกิดการศึกษาเพื่อนำความรู้ไปใช้ในสถานประกอบการ และแทนที่ผู้รับการศึกษาจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการนั้น ๆ

 

    โดยปกติการพัฒนาหัวใจในการเดินทางของอุตสาหกรรมมักทำกันอยู่ 3 แบบ (ธนิศ : 2537) ได้แก่

  1. การปฐมนิเทศ เป็นการฝึกอบรมบุคลากรใหม่ขององค์กรให้ทราบถึงนโยบาย โครงสร้างการบริหาร กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อการสร้างเข้าใจให้ตรงกันและมีทัศนคติที่ดีแก่องค์กร รวมทั้งการพาชมส่วนงานต่าง ๆ
  2. การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน หลังจากที่ได้รับการบรรจุ แต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในองค์กรแล้ว เมื่อปฏิบัติงานไปได้ระยะหนึ่ง จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง อาจอยู่ในลักษณะของการเรียนงานที่มีความยาก ซับซ้อนมากขึ้นจากรุ่นพี่ เพื่อสร้างความพร้อมตลอดเวลาเนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
  3. การหมุนเวียนงานเป็นการไปฝึก ณ หน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความทันสมัยกว่า เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรอบรู้ในงาน มีทักษะในการควบคุมและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดี

 

    ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตามที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ในงานมากขึ้น มีเจตนคติที่ดีต่องานและองค์กร มีทักษะการทำงานที่คงทน ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต่างปรารถนาให้เกิดแก่บุคลากรในองค์กรทั้งสิ้น

 

    ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทกับทุกวงการ โดยเฉพาะวงการอุตสาหกรรมนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้นจึงมีเทคนิคการพัฒนาหัวใจในการเดินทางของอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน หลายท่านคุ้นเคยกับคำว่า E เป็นอย่างดี จากการใช้งานเครื่องมือสื่อสารหรือเครื่องใช้สำนักงานอิเล็คทรอนิคส์ อาทิเช่น E-mail , E-office , E-Commerce , EDI (Electronic Data Interchange) เป็นต้น ใช่แล้ว E ย่อมาจากคำว่า "Electronic" หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็คทรอนิคส์เข้ามาเป็นสื่อในการทำงาน ผู้เขียนขอกล่าวเกี่ยวกับอักษรตัว E สักเล็กน้อยเพื่อความเป็นรูปธรรมสำหรับผู้อ่านบางท่าน


    ยกตัวอย่างเช่น ในการสื่อสารระหว่างองค์กรนั้นเมื่อย้อนหลังไปสัก 20 ปี เราใช้โทรศัพท์ในการติดต่อ ประสานงานระหว่างหน่วยงาน ระหว่างโรงงาน ส่งผลให้ค่าใช้โทรศัพท์มีราคาสูง แต่พอเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาท เราก็ใช้วิธีการประสานงานผ่าน Instant Message เช่น MSN ซึ่งสามารถคุยกันได้ทั้งการพิมพ์ตัวอักษร เสียงพูด เสียงหัวเราะ มองเห็นหน้ากันได้ด้วย ที่สำคัญสามารถส่งหรือแลกเปลี่ยนไฟล์เอกสารระหว่างสำนักงานหรือระหว่างหน่วยงานได้อย่างรวดเร็ว ในการออกเอกสารใบสั่งซื้อ ใบส่งของ หรือเอกสารพิธีการต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันมีแบบฟอร์มมาตรฐานที่เรียกว่าใบกำกับตู้อิเล็กทรอนิกส์ (E-CONTAINER ) ที่ใช้งานร่วมกันหลาย ๆ หน่วยงาน (ธนิต,
http://www.tanitsorat.com) ซึ่ง Online ตลอดเวลา สามารถติดตามสินค้าได้ตลอดเวลาว่าขณะนี้เดินทางอยู่ส่วนใดของโลกและสามารถส่งสินค้าได้ทันเวลาที่ตกลงกันได้หรือไม่ และติดปัญหาใด จากตัวอย่างข้างต้นผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสามารถใช้งานได้ดีแล้วมักจะรู้สึกสนุกในการทำงาน เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ระดับหนึ่ง


 

    ตัวอย่างที่ 2 เมื่อมีการนำสำนักงานอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจำเป็นต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หากมีปัญหาสุดความสามารถที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ จุดนั้นจะแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง องค์กรก็ต้องจัดเตรียมผู้ช่วย Online (Help desk) ไว้รับมือกับปัญหาอย่างทันท่วงทีโดยการ Hack เข้ามาแก้ไขหรือควบคุมสั่งการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาจากระยะไกล (Remote Control) ให้ทำงานได้ตามเดิม โดยใช้คุณสมบัติของ Malware (คำสั่งที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่ต้องการเช่น ไวรัส , Spyware ) เข้ามาใช้ประโยชน์

 

    จากทั้ง 2 ตัวอย่างนั้นเป็นวิธีการที่ทุกวงการได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางและประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามต่อเนื่องว่า แล้วเราจะฝึกอบรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างไร หรือผู้บริหารจะใช้อะไรมาช่วยให้การอบรมเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น คำตอบคือ เราต้องมีเครื่องมือ การใช้ E เข้ามาช่วยนั้นเป็นวิธีการโดยมีแนวคิดว่า "ทำอย่างไรจึงจะสามารถจัดประสบการณ์ทางอาชีพให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวดเร็วที่สุด ประหยัดที่สุด" โดยเรียกเทคนิคนี้ว่า E-Training

 

    E-Training หมายถึง กระบวนการฝึกอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นกระบวนการจัดการฝึกทักษะ เพิ่มพูนสาระความรู้ ที่เน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมนั้นเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เข้าอบรมมีอิสระในการเข้าศึกษา เรียนรู้ตามเวลา โอกาสที่ผู้ฝึกอบรมต้องการ โดยเนื้อหาขององค์ความรู้จะถูกออกแบบมาให้ศึกษาเรียนรู้ได้โดยง่าย ในรูปแบบมัลติมีเดีย ซึ่งประกอบด้วยสื่อที่เป็นข้อความ รูปภาพ หรืออาจมีเสียง รวมถึงภาพเคลื่อนไหว (นัทธี, เข้าถึงได้จาก http://hrm.siamhrm.com)
    
    ในระบบ E-Training ผู้เข้าฝึกอบรมจะมีวิทยากรที่ปรึกษาประจำรายวิชาคอยให้คำปรึกษาในการอบรมตลอดหลักสูตร นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมยังสามารถติดต่อปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการอบรมในห้องปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย สำหรับทุกคนที่สามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ (สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ , http://www.northeducation.ac.th/etraining/index.php)

 

    จากความหมายข้างต้นผู้อ่านก็พอจะรู้ได้ว่า E-Training เป็นการฝึกอบรมผ่านสื่อที่ไม่ใช่ตัวบุคคลโดยตรง แต่เป็นเครื่องมือสื่อสารอิเล็คทรอนิคส์ซึ่งมีการควบคุมกระบวนการฝึกโดยวิทยากร ซึ่งอาจไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ได้ ซึ่งอาจกล่าวถึงข้อดีของ E-Training ได้ดังนี้
  1. สามารถควบคุมลำดับในของการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. สามารถประเมินผลได้อย่างตรงไปตรงมา
  3. ผู้รับการอบรมสามารถเข้าเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
  4. E - Training จะสามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาตนเองได้อย่างทั่วถึง
  5. ผู้รับการอบรม ซึ่งจะต้องค้นคว้า ฝึกทักษะด้วยตนเอง เป็นหลัก
  6. ประหยัดเวลาและงบประมาณ

     
    เครื่องมือที่ใช้สำหรับ E-Training นั้นมีหลากหลายมาก แต่ในบทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงเครื่องมือที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันตามสถานศึกษาและสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด ดังนี้


  • ห้องปฏิบัติการ Multimedia เพื่อการฝึกภาษา สามารถเก็บคำตอบและวิเคราะห์คำตอบของผู้เรียนได้ เครื่องมือชิ้นนี้เหมาะสมมากสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการความสามารถทางด้านภาษาของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะองค์กรที่มีหน่วยงานหลักอยู่ต่างประเทศหรือต้องประสานงานกับต่างประเทศ

  • วีดิทัศน์เพื่อการฝึกอบรม เป็นสื่ออิเล็คทรอนิคส์ที่ผู้ฝึกสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติได้ในเวลาที่ตนเองมีความพร้อมโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทุกบ้าน สะดวกสำหรับผู้ปฏิบัติจะนำกลับไปฝึกเป็นการส่วนตัวกับหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล





  • ระบบ Video Conference คือระบบการประชุมระยะไกล เหมาะสำหรับการประชุมกลุ่มที่ไม่ใหญ่นัก เช่นการประชุมของผู้บริหารระหว่างสำนักงานใหญ่ ณ ต่างประเทศกับสำนักงานสาขาประเทศต่าง ๆ การนำ เข้ามาใช้ในวงการอุตสาหกรรมนั้นช่วยให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเดินทาง ประหยัดเวลา ช่วยอำนวยความสะดวก ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

  • Web Based Training เป็นการฝึกอบรมทางไกลรูปแบบหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ในการฝึกอบรมโดยสามารถใช้ร่วมกับสื่อประสม เช่น ภาพ เสียง ภาพประกอบเสียง ผู้ฝึกจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบควบคุม การเรียนรู้และการปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบ ตัวอย่างระบบ Web Based Training ท่านสามารถเข้าชมได้คือhttp://home.dsd.go.th/techno


     


     


     


     
  • Computer Assisted Instruction หรือคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรียกย่อ ๆ ว่า CAI หมายถึง วิธีการฝึกอบรม ที่ใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนซึ่ง ออกแบบไว้ เพื่อนำเสนอบทเรียนแทนวิทยากร ผู้ฝึกสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง ตามลำดับขั้นตอนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยมีการปฏิสัมพันธ์
    ( Interactive) ระหว่างผู้เรียน กับ คอมพิวเตอร์ และผู้เรียน
    จะได้รับข้อมูลย้อนกลับทันที ตัวอย่าง CAI ทางอุตสาหกรรม สามารถเข้าชมได้ที่ http://www.ited.kmutnb.ac.th/

  • E-Book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ฝึกสามารถหาอ่านผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์พกพาอื่น ๆ ได้ สำหรับหนังสือ หรือ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ จะมีความหมาย รวมถึงเนื้อหาที่ถูกดัดแปลงอยู่ในรูปแบบที่สามารถแสดงผลออกมาได้ โดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ มีลักษณะการ นำเสนอ สอดคล้อง และคล้ายคลึงกับ การอ่านหนังสือทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่จะมีลักษณะพิเศษ คือ สะดวกและรวดเร็ว ในการค้นหา และผู้อ่านสามารถอ่าน พร้อม ๆ กันได้โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายส่งคืนห้องสมุด เช่นเดียวกับหนังสือในห้องสมุดทั่วไป

 

    เครื่องมือสำหรับ E-Training ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจในการเดินทางของอุตสาหกรรม หากเปรียบกับการขับขี่รถที่มีความเร็วสูง จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและความแข็งแรงให้แก่ผู้ขับขี่อยู่เสมอ เพื่อปิดโอกาสของคำว่า พลาด


 

แหล่งอ้างอิง

 

ธนิต โสรัตน์. เข้าถึงได้จาก http://www.tanitsorat.com/

 

ธนิศ ภู่ศิริ. 2537. เทคโนโลยีและสื่อสารการฝึกอบรม หน่วยที่ 12. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
    มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช.


 

นัทธี จิตสว่าง. เข้าถึงได้จาก http://hrm.siamhrm.com/?name=training&file=readnews&max=54

 

สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ. เข้าถึงได้จาก     http://www.northeducation.ac.th/etraining/index.php?mod=Message&op=helpdesk


 

เสน่ห์ โตจุ้ย. 2541. เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หน่วยที่ 7. สาขาวิชา    ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Educational Inspiration 2030

Easy Talk : Educational Inspriration 2030 โดย ผศ.ดร.อาณัติ รัตนถิรกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จัดโดย นักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสต...